ข่าวประชาสัมพันธ์

ข่าวจาก สศท.2/ท้องถิ่น

สศท.2 เผยพืชหัว ‘มันฝรั่ง หอมแดง กระเทียม’ ภาคเหนือตอนล่าง ขณะนี้ผลผลิตออกสู่ตลาดแล้ว

นายประเสริฐศักดิ์ แสงสัทธา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงการลงพื้นที่ของ สศท.2 เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดพืชหัว 3 ชนิด ได้แก่ มันฝรั่ง หอมแดง และกระเทียม ของภาคเหนือตอนล่าง 5 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ และสุโขทัย ปีเพาะปลูก 2565/66 โดยข้อมูลผลสำรวจพืชเบ็ดเสร็จของส่วนสารสนเทศการเกษตร สศท.2 ณ เดือนเมษายน 2566

มันฝรั่ง แหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดตาก มีเนื้อที่เพาะปลูก 17,409 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 5.73 เนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอและมีแรงจูงใจจากราคาประกันจากโรงงาน ผลผลิตรวม 45,958 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.63 ผลผลิตต่อไร่ 2,669 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.98 เนื่องจากปีนี้เกษตรกรได้รับหัวพันธุ์คุณภาพ ต้านทานโรค ให้น้ำหนักดี ประกอบกับการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืชปีนี้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา ขณะนี้ผลผลิตรุ่นที่ 1 (ก.พ. - เม.ย.66) ได้ออกสู่ตลาดแล้วร้อยละ 80 ส่วนผลผลิตรุ่นที่ 2 (ก.ค. - ต.ค. 66) จะออกสู่ตลาดอีกร้อยละ 20 สถานการณ์ราคามันฝรั่ง ปี 2566 เกษตรกรจะขายให้กับบริษัทในรูปแบบเกษตรพันธสัญญา ภายใต้เงื่อนไขข้อตกลงตามสัญญาในด้านคุณภาพ โดยราคาประกันที่เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดอยู่ที่ 10 - 12 บาท/กิโลกรัม ซึ่งราคาทรงตัวเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา

หอมแดง แหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดอุตรดิตถ์ ตาก น่าน แพร่ และสุโขทัย มีเนื้อที่เพาะปลูก 4,217 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 13 เนื่องจากราคาหอมแดงในช่วงต้นปี 2565 อยู่ในเกณฑ์ไม่ดีนัก ต้นทุนปัจจัยการผลิตจำพวกสารเคมีและเวชภัณฑ์ปรับตัวสูงขึ้นมาก เกษตรกรเกรงว่าจะขาดทุนจากการผลิตจึงไม่ขยายเนื้อที่ปลูกเพิ่ม บางรายปรับเปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และข้าวโพดหวานแทน ผลผลิตรวม 10,288 ตัน ลดลงร้อยละ 5.04 โดยผลผลิตดังกล่าวเป็นผลผลิตที่เก็บไว้ขาย ทำพันธุ์ บริโภคในครัวเรือน ไม่รวมถึงผลผลิตที่ทิ้งไว้คาแปลง ผลผลิตต่อไร่ 2,488 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.24 เนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นยาวนาน ทำให้หัวหอมแดงขยายขนาดได้ดี แหล่งผลิตสำคัญส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ไม่มีโรค และแมลงศัตรูพืชรบกวน ขณะนี้ผลผลิตรุ่นที่ 2 (ก.พ. - เม.ย. 66) ได้ออกสู่ตลาดแล้ว ซึ่งเดือนมีนาคม 2566 ออกตลาดมากที่สุดร้อยละ 46 ทั้งนี้ หลังจากที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วส่วนใหญ่จะเก็บไว้ในโรงเรือน หรือใต้ถุนบ้านเพื่อให้เป็นหอมแดงแห้ง หรือเรียกว่า หอมเย้า(หอมแดงหลังเก็บเกี่ยวตั้งแต่ 7 วัน) เพื่อรอจำหน่ายต่อไป สถานการณ์ราคาหอมแดง ปี 2566 ราคาหอมแดงสดอยู่ที่ 12 - 15 บาท/กิโลกรัม  ส่วนราคาหอมเย้า (หอมเก็บเกี่ยวแล้ว 7 วัน) อยู่ที่ 30 - 35 บาท/กิโลกรัม  เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมา จากสถานการณ์การตลาดที่เริ่มดีขึ้นบ้างหลังการระบาดของไวรัสโควิด 19คลี่คลาย โดยผลผลิตจะมีพ่อค้าคนกลางเข้ามารับซื้อในแหล่งผลิตเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ ที่เหลือจะเก็บไว้ทำพันธุ์ และบริโภคในครัวเรือน   

กระเทียม แหล่งผลิตอยู่ที่จังหวัดจังหวัดตาก แพร่ อุตรดิตถ์ และน่าน มีเนื้อที่เพาะปลูก 3,136 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 3.39 เนื่องจากราคากระเทียมในปีที่ผ่านมาอยู่ในเกณฑ์ไม่ดีนัก รวมทั้งต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้นจากราคาปัจจัยปุ๋ยเคมี และยาเวชภัณฑ์ต่างๆ ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกษตรกรจึงลดพื้นที่ปลูกลง และเกษตรกรในหลายจังหวัดได้ปรับเปลี่ยนไปปลูกข้าวโพดหลังนาแทน ผลผลิตรวม 2,120 ตัน ลดลง 4.91 ผลผลิตต่อไร่ 676 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้น 6.92 เนื่องจากปีนี้สภาพอากาศเอื้ออำนวยหนาวเย็นยาวนานส่งผลให้ต้นกระเทียมลงหัวดี ปริมาณน้ำมีเพียงพอตลอดรอบการเพาะปลูกกระเทียม ขณะนี้ผลผลิตได้ออกสู่ตลาดแล้ว (ออกตลาด มี.ค. - เม.ย. 66) ซึ่งเดือนเมษายน 2566 ออกตลาดมากที่สุดร้อยละ 70  ทั้งนี้ หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรจะนำกระเทียมมัดจุกไปแวนไว้ในโรงเรือนที่อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ถูกฝนหรือน้ำค้าง และแสงแดดประมาณ 3 – 4 สัปดาห์ จะทำให้กระเทียมแห้งสนิท คุณภาพดี จึงนำลงมากองสุ่มรวมกันเพื่อเก็บรักษาหรือขายต่อไป สถานการณ์ราคากระเทียม ปี 2566 ราคากระเทียมสดอยู่ที่ 20 - 25 บาท/กิโลกรัม ส่วนราคากระเทียมเย้า (กระเทียมเก็บเกี่ยวแล้ว 7 วัน) อยู่ที่ 40 - 70 บาท/กิโลกรัม โดยราคากระเทียมเย้าขึ้นอยู่กับขนาดหัวกระเทียม (กระเทียมหัวเล็ก 40 บาท/กิโลกรัม กระเทียมหัวกลาง 55 บาท/กิโลกรัม กระเทียมหัวใหญ่ราคา 70 บาท/กิโลกรัม เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาจากสถานการณ์การตลาดที่เริ่มดีขึ้นบ้างหลังการระบาดของไวรัสโควิด 19 คลี่คลาย ทำให้มีพ่อค้านอกพื้นที่เข้ามารับซื้อในแหล่งผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยจะนำผลผลิตดังกล่าวไปจำหน่ายยังจังหวัดต่างๆในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง และกรุงเทพฯ โดยแบ่งไว้ทำพันธุ์ และบริโภคในครัวเรือนด้วย  

อย่างไรก็ตาม สภาพอากาศที่แปรปรวนอาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่อาจเปลี่ยนแปลงได้  ซึ่งหลังจากนี้ สศท.2 จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งจะลงพื้นที่เพื่อติดตาม วางแผนบริหารจัดการผลผลิต และรายงานผลการสำรวจ พืชเบ็ดเสร็จที่เป็นข้อมูลเอกภาพต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาบริหารจัดการสินค้าให้เกิดดุลยภาพ ณ ราคาที่เหมาะสม สร้างผลตอบแทนที่คุ้มค่าให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ หากท่านใดสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถสอบถามได้ที่ สศท.2 โทร. 05 532 2658 หรือ e-mail : zone2@oae.go.th

ข่าว : ส่วนประชาสัมพันธ์ / ข้อมูล : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก


บราวเซอร์ที่รองรับ Chrome (แนะนำ) | Firefox | Exploer 9+ | Safari